top of page

การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning: SEL)

Updated: Sep 9, 2022

การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning : SEL) คือทักษะที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าใจอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง จนสามารถจัดการกับตัวเองได้และรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ยาวนาน รวมถึงการตั้งเป้าหมายและการควบคุมตัวเองให้เดินทางไปถึงจุดหมาย




ทักษะอารมณ์และสังคมประกอบด้วย 5 ทักษะ

  1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self Awareness) คือการรับรู้อารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของตนเองที่กำลังเกิดขึ้นว่ารู้สึกอย่างไร คิดแบบไหนและอยากทำอะไร เข้าใจสาเหตุและมองเห็นถึงผลกระทบที่ตามมา

  2. การตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness) คือการรับรู้ความแตกต่างของคนรอบข้างด้วยความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ สามารถรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของคนรอบข้างได้ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)

  3. การจัดการตนเองได้ (Self Management) คือความสามารถในการรับมือกับอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของตัวเองจนสามารถตัดสินใจแสดงพฤติกรรมออกมาได้อย่างเหมาะสม วางแผนแก้ไขปัญหาจนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการและสามารถเยียวยาตนเองจากความเครียดได้ รวมถึงการตั้งเป้าหมายและกำกับตัวเองให้บรรลุเป้าหมาย

  4. การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Decision Making Skills) คือการรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรอบคอบและอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและจริยธรรมจนสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางที่ส่งผลด้านบวกต่อสังคมและตนเองได้

  5. การสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) คือความสามารถในการใช้ทักษะการสื่อสารและทักษะการฟังในการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความแตกต่างของบุคลิกภาพ รวมถึงความสามารถในการปกป้องตนเองจากความสัมพันธ์ที่เป็นอันตราย



แนวทางการปรับใช้ "การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning : SEL)"


ทักษะทั้ง 5 ทำงานเชื่อมโยงถึงกัน โดยเมื่อเกิดการตระหนักรู้ในตนเองและเกิดการตระหนักรู้ในสังคม จะนำไปสู่ความสามารถในการจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสมและตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและรักษาความสัมพันธ์ได้อย่างยาวนาน เช่น


1.เมื่อการเรียนตกต่ำ สามารถตระหนักรู้ในตนเองได้ว่ารู้สึกผิดหวังและรู้สึกเสียใจ เข้าใจสาเหตุว่าเกิดจากเล่นเกมออนไลน์มากเกินไปจนไม่มีเวลาทำการบ้านและพักผ่อนไม่เพียงพอจนทำให้นอนหลับในห้องเรียน หากปล่อยไว้อาจจะทำให้ผลการเรียนเสียหายยิ่งกว่าเดิม ตระหนักรู้ความปรารถนาดีจากพ่อแม่และครูซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือ

วางแผนแก้ไขปัญหาการเรียนตกต่ำด้วยการจัดตารางเวลาให้เหมาะสมและเยียวยาความเสียใจด้วยการเล่าให้เพื่อนฟัง สังเกตผลลัพธ์จากการวิธีแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตัวเอง รวมถึงการสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน


2.เมื่อทะเลาะกับเพื่อน สามารถตระหนักรู้ในตนเองได้ว่ารู้สึกโกรธและเสียใจ เข้าใจสาเหตุว่าโกรธเพราะคิดว่าเพื่อนดูถูกตนเองว่าเป็นคนฉลาดน้อยและอยากทำร้ายร่างกายเพื่อนเพื่อแก้แค้น แต่หากทำร้ายร่างกายเพื่อนจะต้องถูกครูเรียกผู้ปกครอง ตระหนักรู้ว่าเพื่อนที่ทะเลาะด้วยก็โกรธตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเขาอาจจะทำผิดจริงหรือสื่อสารผิดพลาด

วางแผนแก้ไขปัญหาด้วยการปรับความใจกับเพื่อนผ่านการสื่อสาร การรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความแตกต่างของบุคลิกภาพ จนนำไปสู่การแก้ไขความเข้าใจผิด สังเกตผลลัพธ์และยอมรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของตัวเอง รวมถึงการสามารถรักษาความสัมพันธ์ด้านบวกกับเพื่อนได้อย่างยาวนาน


แนวทางการพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคมแต่ละด้าน (Social and Emotional Learning : SEL)



ทักษะด้านอารมณ์และสังคม (SEL)

แนวทางการพัฒนา

การตระหนักรู้ในตนเอง (Self Awareness)

ฝึกตั้งคำถามกับตนเองว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่และอยากทำอะไร การจดบันทึกเรื่องราวของตนเองลงสมุด

การตระหนักรู้ในสังคม (Social Awareness)

ฝึกรับฟังอย่างใส่ใจโดยไม่ด่วนตัดสิน ฝึกสังเกตภาษากายสีหน้าและแววตาที่สะท้อนความรู้สึกของคนใกล้ตัวและศึกษาความแตกต่างของวัฒนธรรม

การจัดการตนเองได้ (Self Management)

ฝึกแก้ไขปัญหาผ่านการวางแผนบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลด้วยตนเอง ฝึกคิดหรือสืบค้นวิธีเยียวยาตนเองจากความเครียดและลองปฏิบัติจริง ฝึกตั้งเป้าหมายและควบคุมตนเองให้ทำตามแผนจนบรรลุเป้าหมาย

การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Decision Making Skills)

ฝึกมองให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาจากการตัดสินใจทั้งด้านสังคมและตนเองและฝึกคิดแผนสำรองรับมือกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ

การสร้างความสัมพันธ์ (Interpersonal Skill)

ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ฝึกรับฟังอย่างใส่ใจและฝึกการปฏิเสธ


อ้างอิง


1.ปรารถนา หาญเมธี. (2564). ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป), สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ.2565 จาก. https://shorturl.asia/bYKvt

2.จิราพร เณรธรณี. (2564). สร้าง SEL (Social Emotional Learning) ในห้องเรียนออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ.2565 จาก. https://www.educathai.com/knowledge/articles/525

3. Movement. (2565). โอลิเวอร์ จอห์น: ‘SEL’ ทักษะทางอารมณ์และสังคม วิชาฝึกการใช้ชีวิตที่โรงเรียนไม่มีสอน, สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน พ.ศ.2565 จาก. https://research.eef.or.th/oliver-john-social-emotional-learning/


3 views0 comments
bottom of page